ข่าวการขอย้ายการแข่งขันจากโซนอาเซียน (AFF) สู่โซนเอเชียตะวันออก (EAFF) ของทีมชาติอินโดนีเซีย ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องเล่นๆเสียเเล้ว
เมื่อน้ำผึ้งหยดเดียวในเกมยู-19 ชิงแชมป์อาเซียน ลากยาวมาถึงการมองหาผลประโยชน์และการผลักดันสู่การแข่งขันในที่ระดับสูงกว่า เพราะจะได้เจอกับทีมอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน และ เกาหลีเหนือ บ่อยขึ้น
ทว่าเรื่องการขอย้ายโซนมันทำได้ง่ายๆแบบนั้นเลยหรือ? และถ้า อินโดนีเซีย ย้ายจาก AFF ไป EAFF จริงจะมีใครได้และเสียผลประโยชน์อะไรบ้าง?
น้ำผึ้งหยดเดียว เรื่องนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในโซนอาเซียนมาก่อน สำหรับการขอย้ายฝั่งของชาติสมาชิก AFF ยิ่งโดยเฉพาะกับทีมอย่าง อินโดนีเซีย หนึ่งในทีมแถวหน้าของอาเซียน เพราะพวกเขาเป็นหนึ่งในชาติผู้ก่อตั้ง AFF และมีส่วนในการตัดสินใจต่างๆของ AFF มาอย่างยาวนาน
แต่เรื่องมันเกิดขึ้นเพียงเพราะในศึกฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียนรุ่นยู-19 ที่เพิ่งจบลงไปไม่นาน (มาเลเซีย ได้เเชมป์) เนื่องจาก อินโดนีเซีย อยู่ร่วมสายเดียวกับ ไทย และ เวียดนาม ทว่าเมื่อเล่นจนถึงโปรแกรมนัดสุดท้าย ทั้ง 3 ทีมก็เบียดกันเพื่อแย่งโควตา 2 ทีมที่จะได้เข้ารอบน็อกเอาต์
อินโดนีเซีย ต้องเจอกับ เมียนมา ขณะที่ ไทย ต้องเจอกับ เวียดนาม และสถานการณ์ ณ เวลานั้นคือ อินโดนีเซีย มี 8 แต้ม ไทย และ เวียดนาม มีทีมละ 10 แต้ม ดังนั้น หาก อินโดนีเซีย ชนะ เมียนมา ได้ พวกเขาจะมี 11 แต้ม และต้องมาลุ้นให้คู่ระหว่างไทยกับเวียดนามมีผลการแข่งขันออกหน้าไหนก็ได้ “นอกจากเสมอกัน” เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นทั้ง 3 ทีมจะมี 11 แต้มเท่ากัน และถึงแม้ อินโดนีเซีย จะมีประตูได้เสีย +15 ลูกมากที่สุดในบรรดา 3 ทีมก็ไม่มีความหมาย เพราะการหาทีมเข้ารอบน็อกเอาต์จะใช้กฎเฮดทูเฮด และถ้าแต้มเท่ากัน 3 ทีมจะต้องมีการวัด มินิลีก หรือการคิดคะแนนจากเกมที่ทั้ง 3 ทีมพบกันในรอบแบ่งกลุ่ม
เมื่อใช้กฎนี้ อินโดนีเซีย ที่เสมอทั้ง ไทย และ เวียดนาม ด้วยสกอร์ 0-0 จะต้องลุ้นให้คู่ระหว่าง ไทย กับ เวียดนาม มีผลแพ้ชนะ หรือถ้าจะเสมอก็ต้องเสมอ 0-0 เพราะถ้าเป็นแบบนั้นทุกทีมจะมีคะแนนมินิลีกเท่ากัน นั่นคือทีมละ 2 คะแนนและมีประตูได้เสียเป็น 0 ทั้งหมด ถ้าเป็นไปตามนี้ อินโดนีเซีย จะเข้ารอบเป็นเเชมป์กลุ่มด้วยประตูได้เสียที่ +15, เวียดนาม จะเข้าเป็นที่ 2 ด้วยประตูได้เสีย +9 ขณะที่ไทยจะตกรอบด้วยผลประตูได้เสียที่ +6
และอย่างที่เรารู้กัน ดราม่ามันก็เกิดขึ้นจริงๆ เมื่อ อินโดนีเซีย ชนะ เมียนมา หายห่วง 5-1 ขณะที่คู่ของ ไทย กับ เวียดนาม จบลงด้วยการเสมอกัน 1-1 เข้าตามกฎติกาที่กล่าวไว้ด้านบน อินโดนีเซียจึงตกรอบด้วยการแพ้การนับแต้มแบบมินิลีกไปโดยปริยาย ซึ่งการตกรอบครั้งนี้คงไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรถ้าในช่วง 15 นาทีสุดท้ายของเกมคู่เวียดนามและไทยไม่มีการเล่นแบบดึงเวลาให้จบเกม นักเตะทั้งสองทีมส่งบอลกันไปมาโดยไม่พยายามที่จะทำประตู และเล่นแบบปลอดภัยไว้ก่อนเพื่อไม่ให้เสียประตู เป็นเช่นนี้จนจบ 90 นาที ซึ่งเรื่องดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับฝั่งอินโดนีเซียเป็นอย่างมาก มีการโจมตีจากฝั่งเจ้าภาพว่า ไทย และ เวียดนาม พยายามจับมือกันเขี่ย อินโดนีเซีย ตกรอบ
ดังนั้น พวกเขายกระดับเรื่องนี้ให้ซีเรียสมากขึ้นด้วยการตัดสินใจยื่นเรื่องร้องเรียนต่อสหพันธ์ฟุตบอลอาเซียนให้พิจารณา เมื่อมองว่า ไทย และ เวียดนาม เล่นไม่สมศักดิ์ศรี
อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ทาง AFF ยังไม่ได้ส่งหนังสือตอบรับพิจารณาข้อร้องเรียนของสมาคมฟุตบอลอินโดนีเซียแต่อย่างใด ทำให้ล่าสุดทาง โมชาหมัด อิเรียวาน ประธานสมาคมฟุตบอลอินโดนีเซีย ออกมาแสดงความไม่พอใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมขู่ว่ามีแผนลาออกจากสมาชิกสหพันธ์เพื่อไปอยู่กับสหพันธ์ฟุตบอลเอเชียตะวันออก หรือ EAFF แทน และเรื่องนี้ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ทางอินโดนีเซียเอาจริงเอาจังเป็นอย่างมาก
EAFF ย้ายง่ายๆแบบนั้นเหรอ? EAFF ที่ อินโดนีเซีย ทำเรื่องเพื่อขอย้ายไปอยู่โซนนั้นคือตัวแทนจากฝั่งเอเชียตะวันออกที่มีสมาชิก 10 ชาติ ได้แก่ จีน ไต้หวัน กวม ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ มาเก๊า มองโกเลีย และหมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา คำถามคือมันย้ายกันง่ายๆแบบนั้นเลยหรือหากว่ากันตามความเป็นจริง?
ว่ากันตามกฎแบบเป๊ะๆคือ การขอย้ายโซนถือว่าทำได้ และเคยมีการทำมาแล้วด้วยในอดีต ยกตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือการที่ชาติอย่าง ออสเตรเลีย ที่ว่ากันตามภูมิศาสตร์ พวกเขาอยู่ในโซนโอเชียเนีย ทว่าทีมฟุตบอลของพวกเขาก็ย้ายมาแข่งขันในโซนเอเชีย เพราะการมาเล่นที่โซนเอเชียนั้นจะมีโอกาสได้ไปฟุตบอลโลกง่ายกว่า เพราะโซนโอเชียเนียได้สิทธิ์เพียงครึ่งทีมเท่านั้นสำหรับการได้ไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ขณะที่โซนเอเชียนั้นได้สิทธิ์ 4 ทีมครึ่ง
ออสเตรเลีย นำเรื่องนี้เสนอต่อ FIFA เพื่อให้พิจารณา ก่อนที่การตัดสินจะแล้วเสร็จภายใน 1 ปี นั่นคือคณะกรรมการบริหารของ FIFA เห็นชอบกับแนวคิดดังกล่าว โดยการยกมือเห็นชอบถูกเปิดเผยโดย เซปป์ แบลตเตอร์ ประธาน FIFA ณ เวลานั้น ที่เผยว่าการย้ายจากโซนโอเชียเนีย มายัง เอเชีย ของออสเตรเลียถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีและได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย เพราะชาติในโซนโอเชียเนียก็จะได้มีการแข่งขันที่สูสีขึ้น ชาติอื่นๆที่แพ้ออสเตรเลียทุกเมื่อเชื่อวันจะได้ลืมตาอ้าปากบ้าง เพราะออสเตรเลียนั้นเเข็งแกร่งเกินไป
ขณะที่ฝั่งเอเชียก็จะได้ทีมแกร่งที่เข้ามาช่วยเพิ่มระดับของการแข่งขันให้สูงขึ้นในการแข่งขันระดับทีมชาติและการแข่งขันระดับสโมสรชิงเเชมป์เอเชีย จากเหตุผลดังกล่าวคณะกรรมการของ FIFA จึงยกมือรับรองเรื่องนี้ในท้ายที่สุด
ไม่ใช่แค่ออสเตรเลียเท่านั้น แต่การย้ายโซนแบบนี้ก็เคยเกิดขึ้นกับทีมอย่าง อิสราเอล ที่ก่อนหน้านี้เคยสังกัดอยู่กับโซนเอเชีย แต่ด้วยปัญหาทางการเมืองจึงทำให้อิสราเอลตัดสินใจย้ายอยู่กับโซนยุโรป
รวมถึง คาซัคสถาน ที่อยู่กับทวีปเอเชีย แต่ในช่วงก่อนทศวรรษ 2000s ก็ได้ตัดสินใจทำเรื่องย้ายไปอยู่กับโซนยุโรป เพื่อการพัฒนาฟุตบอลภายในประเทศ
ขณะที่การย้ายโซนภายทวีปเอเชียก็เคยมีให้เห็น อย่างกรณีที่ อัฟกานิสถาน ย้ายจากเอเชียใต้ ไปอยู่ โซนเอเชียกลาง ด้วยผลประโยชน์ทางด้านภูมิศาสตร์ ซึ่งก็สามารถทำได้เช่นกัน
กลับมาที่สถานการณ์ ณ ปัจจุบันของอินโดนีเซีย จะพบว่าการขอย้ายโซนจาก AFF ไปยัง EAFF นั้นคือเรื่องที่เป็นไปได้ เพียงแต่ว่าของแบบนี้ต้องมีผลประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่ายเพื่อเป็นเหตุผลให้คณะกรรมการของ FIFA ยกมืออนุมัติคำขอของอินโดนีเซีย
FIFA จะขอความเห็นจากสมาชิกฝั่ง AFF ว่ายินดีหรือไม่หากอินโดนีเซียจะขอออกจากการเป็นสมาชิก และเช่นเดียวกันฝั่ง EAFF ก็จะต้องให้ความเห็นกับ FIFA ว่าพวกเขายินดีหรือไม่ที่จะรับอินโดนีเซียเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่
แม้จะขอย้ายได้จริงโดยไม่ใช่เรื่องตลกแบบที่คอมเมนต์ในโซเชียลมีเดียแซวอินโดนีเซียอยู่ช่วงนี้ แต่หากมองจากเงื่อนไขการย้ายแล้ว อินโดนีเซียคงจะต้องลุ้นกันหลายต่อหน่อยหากพวกเขาอยากจะย้ายไปอยู่โซน EAFF จริงๆ เพราะ ณ เวลานี้มีหลายชาติของฝั่ง AFF ที่ไม่เห็นด้วยกับการย้ายออกจากโซน AFF ของอินโดนีเซีย
จากการกล่าวอ้างของสื่ออินโดนีเซียอย่าง บอกว่า ณ เบื้องต้นตอนนี้มี 3 ชาติที่แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการกระทำของอินโดนีเซียที่จะขอย้ายโซน ได้แก่ ไทย, มาเลเซีย และ กัมพูชา
ขณะที่ฝั่งเวียดนาม แม้จะไม่มีการยืนยันว่าพวกเขาเห็นด้วยหรือไม่ แต่มีกระแสจากสื่อเวียดนามบอกว่าพวกเขายินดีอย่างมากที่อินโดนีเซียจะออกจาก AFF เพราะอินโดนีเซียไม่ใช่ชาติที่แข็งแกร่ง มีอันดับฟีฟ่าแรงกิ้งต่ำ และมันจะดีมากหากพวกเขาเอาทีมชาติออสเตรเลียที่เป็นหนึ่งในชาติภูมิภาคอาเซียนเข้ามาแทน เนื่องจากออสเตรเลียมีที่ตั้งของประเทศใกล้โซน AFF มากที่สุดในทวีปเอเชีย
นี่คือการแสดงความเห็นผ่านสื่อเท่านั้น แนวความเห็นก็ออกมาในเชิงที่ว่าอินโดนีเซียทำตัวเหมือนกับเด็กที่ไม่ยอมรับกติกาการแข่งขัน แต่ฝั่งอินโดนีเซียดูเหมือนจะจริงจังกับการย้ายโซนครั้งนี้มาก ถึงขนาดที่ว่า โมชาหมัด อิเรียวาน ประธานสมาคมฟุตบอลอินโดนีเซีย ออกมาให้สัมภาษณ์ด้วยตัวเองว่าตอนนี้ชาติใน EAFF พร้อมจะต้อนรับอินโดนีเซียเข้าไปเป็นสมาชิกใหม่เเล้ว
แม้เหตุการณ์ตอนนี้จะดูนัวๆ และมีความเห็นแตกแยกเป็นหลายฝ่าย แต่ในโลกฟุตบอลอะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น และถ้าหากถึงวันที่ FIFA ตัดสินและพวกเขาอนุมัติให้อินโดนีเซียไปเป็นสมาชิก EAFF จริงๆอะไรจะเกิดขึ้น? เราจะลองมาวิเคราะห์ถึงประเด็นที่ยังต้องหาคำตอบกันตอนนี้
ออกไปแล้วได้อะไร? หาก อินโดนีเซีย เข้าเป็นสมาชิก EAFF อะไรจะเกิดขึ้น? เราจะมาเริ่มดูที่ข้อดีกันก่อนแน่นอนว่าโซน EAFF นั้นมีสมาชิกที่แข็งแกร่งระดับชาติแถวหน้าของเอเชียที่เคยผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายมาเเล้วทั้ง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน และ เกาหลีเหนือ พวกเขาเหล่านี้จะจัดการแข่งขันที่ชื่อว่า EAFF CUP ซึ่ง อินโดนีเซีย จะได้ร่วมวงด้วย เพียงแต่ว่าพวกเขาจะต้องไปเริ่มเเข่งขันตั้งแต่รอบคัดเลือกก่อน และทีมเหล่านี้นี่แหละที่อินโดนีเซียอยากจะเจอ เพราะการเจอทีมเก่งๆจะช่วยยกระดับของตัวเองไปโดยปริยาย
สื่ออินโดนีเซียอย่าง Bola เขียนถึงเรื่องดังกล่าวว่า “การเข้าสู่ EAFF จะเป็นโอกาสสำคัญสำหรับอินโดนีเซียที่จะได้แข่งขันกับทีมชั้นนำของเอเชียอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือ จีน ซึ่งโอกาสแบบนี้แทบไม่มีเลยหากยังอยู่ใน AFF”
โดยชาติที่จะลงเเข่งขันในรอบคัดเลือกได้แก่ เกาหลีเหนือ ไต้หวัน กวม ฮ่องกง มาเก๊า มองโกเลีย และ หมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา เพื่อหาตัวแทนเพียง 1 ทีมเข้าไปเล่นรอบสุดท้ายที่มี จีน ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ รออยู่
ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่อยู่ดีๆ อินโดนีเซีย จะได้เตะกับทีมอย่าง ญี่ปุ่น หรือ เกาหลีใต้ เพราะในรอบคัดเลือกพวกเขาจะต้องเจอของเเข็งอย่าง เกาหลีเหนือ และ ฮ่องกง ที่แทบจะสลับกันไปแข่งรอบสุดท้ายกันอยู่ 2 ทีม จากกรณีดังกล่าวหากเราจะบอกว่าการที่ อินโดนีเซีย จะพัฒนาขึ้นเมื่อเป็นสมาชิกของ EAFF ก็ไม่น่าจะถูกต้องทั้งหมด เพราะพวกเขาจะต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเจอกับทีมระดับล่างๆของโซนนี้ ซึ่งว่ากันตามตรงแล้วก็มีมาตรฐานไม่ต่างจากโซนอาเซียนที่พวกเขาต้องเจอมาตลอดมากนัก ทางเดียวที่ อินโดนีเซีย จะได้ในสิ่งที่พวกเขาต้องการคือพวกเขาต้องยกระดับตัวเองอีกพอสมควรเพื่อผ่านรอบคัดเลือกให้ได้ โดยเฉพาะเมื่อมีกระดูกเบอร์ใหญ่อย่าง เกาหลีเหนือ ขวางเป็นด่านสำคัญ
นี่คือการเดิมพันที่สูงมากของอินโดนีเซียหากพวกเขาย้ายได้จริง เพราะหากอินโดนีเซียผ่านรอบคัดเลือก EAFF Cup ไปได้จริงๆ พวกเขาก็จะได้ยกระดับเกมการแข่งขันในแบบที่พวกเขาต้องการ แต่ถ้าไม่ได้ การย้ายโซนก็แทบจะไม่มีผลเรื่องการยกระดับฟุตบอลของอินโดนีเซียเลย ซ้ำร้ายพวกเขาอาจจะถอยหลังยิ่งกว่าเจอชาติในอาเซียนที่ในระยะหลังอินโดนีเซียก็ยังเป็นรองชาติอย่าง ไทย เวียดนาม และ มาเลเซีย ด้วยซ้ำไป
ขณะที่ฝั่ง EAFF นั้นถือว่าได้ประโยชน์จากการย้ายโซนของอินโดนีเซียพอสมควร เพราะอินโดนีเซียคือชาติที่คลั่งฟุตบอลอันดับ 1 ของอาเซียน พวกเขามีสนามที่จุคนดูได้มากกว่า 30,000 คนถึง 21 สนามในประเทศ และเมื่อมีโปรแกรมทีมชาติหรือทัวร์นาเมนต์สำคัญ ชาวอินโดนีเซียก็มักจะเข้าไปชมเกมเต็มความจุของสนามแทบทุกครั้ง ดังนั้น การแข่งขันของฝั่ง EAFF ก็จะมีชีวิตชีวามากขึ้นทั้งบรรยากาศในสนามรวมถึงการปรากฏบนหน้าสื่อโซเชียลมีเดีย นั่นอาจจะเป็นเหตุผลที่ว่าทำไม โมชาหมัด อิเรียวาน ประธานสมาคมฟุตบอลอินโดนีเซีย จึงออกมาบอกว่า EAFF ยินดีต้อนรับหากอินโดนีเซียจะย้ายเข้ามาเป็นสมาชิกของโซนนี้
กลับกันเมื่อมองมาที่ฝั่ง AFF หรือโซนอาเซียน พวกเขาก็จะเสียอินโดนีเซีย ประเทศที่ทำให้การแข่งขันมีสีสันและมีแฟนบอลติดตามฟุตบอลเยอะมากไปโดยปริยาย โดยสื่ออย่าง ก็พูดถึงเรื่องดังกล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องการเสียผลประโยชน์เหล่านี้นี่แหละคือสาเหตุที่ทำให้ชาติอาเซียนไม่ต้องการให้อินโดนีเซียย้ายไปจากโซน EAFF
ประธานสหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน จะเป็นหนึ่งในคนที่คัดค้านการตัดสินใจครั้งนี้ของอินโดนีเซีย เพราะ AFF จะสูญเสียครั้งใหญ่ เนื่องจากการแข่งขันระดับอาเซียนจะได้รับความสนใจลดน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งศักยภาพในการหารายได้เชิงพาณิชย์และเหล่าผู้สนับสนุน”
จะเห็นได้ว่าแม้การย้ายโซนของอินโดนีเซียจะยังไม่เกิดขึ้น แต่เรื่องทั้งหมดขึ้นอยู่กับผลประโยชน์โดยแท้จริง และนี่คือสัจธรรมของทุกเรื่องบนโลกใบนี้ที่เมื่อมีผลประโยชน์เกิดขึ้นและผลประโยชน์นั้นถูกแบ่งให้ฝ่ายต่างๆอย่างเท่าเทียม อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น เหมือนกับที่ อิสราเอล และ คาซัคสถาน ขอย้ายไปเล่นโซนยุโรป, ออสเตรเลีย ขอย้ายมาเล่นในโซนเอเชีย หรือแม้กระทั่ง ซูรินาเม และ กายอานา ย้ายจากโซนอเมริกาใต้มาเล่นในโซนอเมริกาเหนือ
ดังนั้น อินโดนีเซียอาจจะย้ายไปเล่นอยู่โซน EAFF จริงๆก็ได้ หากผลประโยชน์ตกอยู่กับทุกฝ่าย และที่สำคัญที่สุดคือ อินโดนีเซีย อยากจะย้ายจริงๆ ไม่ใช่ประชดแดกดันเหมือนกับที่หลายฝ่ายกำลังคิดอยู่ ณ เวลานี้